แน็ต ฟลายเชอร์

แน็ต ฟลายเชอร์ หรือที่รู้จักและนิยมเรียกกันในชื่อ แน็ต แฟลชเชอร์ (อังกฤษ: Nat Fleischer) เป็นอดีตสื่อมวลชนในแวดวงมวยสากลระดับโลก และบรรณาธิการบริหารนิตยสารเดอะริง รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันเดอะริง ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันมวยสากลอาชีพระดับโลกสถาบันแรกแน็ต ฟลายเชอร์ มีชื่อจริงว่า นาธาเนียล สแตนลีย์ ฟลายเชอร์ (Nathaniel Stanley Fleischer) เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1887 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิว จบการศึกษาจากซิตีคอลเลจออฟนิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 1908 จากนั้นได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กเพรส ควบคู่ไปกับการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก จากนั้นฟลายเชอร์ได้เป็นบรรณาธิการข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์เดอะเพรสส์ และเดอะซัน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1922 ได้ร่วมงานกับเท็กซ์ ริคคาร์ด โปรโมเตอร์ชื่อดังในขณะนั้น ก่อตั้งนิตยสารเดอะริง ขึ้นมาพร้อมกับการเป็นสถาบันมวยเดอะริง ควบคู่กันไปด้วยการเริ่มต้นศึกรายการชกมวยสากลชิงแชมป์โลกของสถาบัน ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่นิตยสารเดอะริงออกวางจำหน่าย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากเดอะริงจะเป็นผู้รับรองการชกชิงแชมป์โลก และตั้งกฏกติกาการชกขึ้นมาควบคุม โดยที่ฟลายเชอร์ได้เป็นเจ้าของนิตยสารแต่เพียงคนเดียวในปี ค.ศ. 1929 ซึ่งก็ได้เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการอย่างยาวนานถึง 50 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1972ในปี ค.ศ. 1942 ฟลายเชอร์เริ่มต้นตีพิมพ์หนังสือบันทึกสถิติมวยประจำปีและสารานุกรมมวยออกมา จนกระทั่งปี ค.ศ. 1987 ยังได้ออกหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัตินักมวย และเรื่องราวต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์วงการมวยโลกอีกเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1954 พันตำรวจเอก พิชัย กุลละวณิชย์ เลขานุการกรมตำรวจและรักษาการผู้บังคับการกองตรวจตำรวจนครบาล (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เชิญฟลายเชอร์มายังประเทศไทย เพื่อเป็นแขกรับเชิญพิเศษและกรรมการสักขีพยานของการชกมวยชิงแชมป์โลกในรุ่นแบนตั้มเวต (118 ปอนด์) ระหว่าง จิมมี่ คาร์รัทเธอร์ เจ้าของตำแหน่งชาวออสเตรเลีย กับ จำเริญ ทรงกิตรัตน์ ผู้ท้าชิงชาวไทย อันเป็นการชกชิงแชมป์โลกมวยสากลอาชีพครั้งแรกของนักมวยชาวไทย ซึ่งการชกมีขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ที่สนามจารุเสถียร ซึ่งตกลงที่จะชกกันตามกติกาสากล ในวันนั้นฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก แต่ด้วยจำนวนผู้ชมชาวไทยกว่า 60,000 คน ที่ตั้งใจจะมาชมการแข่งขัน แม้ฟลายเชอร์จะเสนอให้เลื่อนการชกออกไปก่อน แต่ทว่าด้วยจำนวนผู้ชมเป็นอันมาก มิอาจทำให้ พ.ต.อ.พิชัย ในฐานะผู้จัดการแข่งขันเลื่อนการชกออกไปได้ เพราะยังมีผู้ชมอีกจำนวนมากที่อออยู่หน้าสนามไม่อาจเข้ามาได้ สุดท้าย นักมวยทั้งคู่ต้องถอดรองเท้าขึ้นชก เพราะพื้นเวทีเจิ่งนองไปด้วยน้ำฝน และเปลี่ยนกติกาจากทั้งหมด 15 ยก เหลือแค่ 12 ยก ซึ่งผลปรากฏว่า จำเริญเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไปในที่สุดต่อมา พ.ต.อ.พิชัย ได้เข้ามามีบทบาทและเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ในคณะกรรมการบริหารเวทีราชดำเนิน โดยได้รับการแนะนำจากฟลายเชอร์ ให้ติดต่อกับนายทหารชาวอเมริกันผู้หนึ่งซึ่งประจำการอยู่ในฐานทัพสหรัฐที่ฟิลิปปินส์ชื่อ พันตรี ซุลลิแวน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกติกากีฬามวยสากลให้มาช่วยวางระบบเพื่อยกระดับวงการมวยของไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากล ซึ่งได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งฟลายเชอร์มีบทบาทอย่างมาก และได้เดินทางมาสู่ประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง เช่น เป็นหนึ่งในกรรมการผู้ให้คะแนนการชกชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวต (112 ปอนด์) ระหว่าง ปัสกวล เปเรซ เจ้าของตำแหน่งชาวอาร์เจนติน่า กับ โผน กิ่งเพชร ผู้ท้าชิงชาวไทย ในปี ค.ศ. 1960 ที่เวทีลุมพินี ซึ่งปรากฏว่าโผนชนะคะแนนไปได้อย่างไม่เป็นเอกฉันท์ กลายเป็นแชมป์โลกคนไทยของไทย ในส่วนของฟลายเชอร์ก็ให้โผนชนะไปด้วยคะแนน 146-140 อันเป็นเสียงที่ชี้ขาด จนกระทั่งเป็นที่คุ้นเคยกันดีของชาวไทย จนได้มีการเรียกชื่อฟลายเชอร์อย่างเล่น ๆ ว่า ลุงแน็ตนอกจากนี้แล้ว แน็ต ฟลายเชอร์ ยังเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬามวยแห่งอเมริกา (BWA) และได้รับรางวัล เจมส์ เจ.วอร์คเกอร์ ถึง 2 ครั้ง หลังจากที่เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1972 ทาง BWA ได้ตั้งรางวัลแน็ต ฟลายเชอร์ ขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติระลึกถึง ซึ่งรางวัลนี้มีการมอบให้แก่ผู้สื่อข่าวในวงการมวยที่มีผลงานโดดเด่นทุกปี นอกจากนี้แล้วยังได้รับการเสนอชื่อให้เข้าสู่หอเกียรติยศวงการมวยโลก (International Boxing Hall of Fame) ในปี ค.ศ. 1990 อีกด้วย[1]